กรณีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เปิดให้ลงทะเบียน ผ่านทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา
ล่าสุดวานนี้ (6 เม.ย.63) นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาโควิด-19 ว่าขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ข้อมูล ณ วันที่ 6 เม.ย. 2563 มีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 24 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้มีคนเข้ามาลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน ก่อนช่วงหลังๆจะมีคนเข้ามาลงทะเบียนลดลงเหลือวันละ 1 แสนคน
ซึ่งใน 24 ล้านคนนี้ ก็ต้องมีการคัดกรองและตรวจคุณสมบัติว่าใครที่เข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยา ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังก็ออกมาให้ข้อมูลสำหรับกลุ่มที่จะถูกพิจารณาก่อนก็คือกลุ่ม 1.กลุ่มอาชีพผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล, 2.คนขับรถแท็กซี่ 3.วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ,4.มัคคุเทศน์ ,5.อาชีพค้าขายร้านอาหาร
พร้อมกันนี้ นายลวรณ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้กระบวนการการคัดกรองดำเนินไปกว่าครึ่งแล้ว และกลุ่มตัวอย่างของคนที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา10 กลุ่มคือ
1.บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบและเงื่อนไขมาก่อนหน้านี้แล้ว หรือที่ไม่ได้อยู่ในวันทำงาน
2.คนที่ว่างงานอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว –แม่บ้าน
เนื่องจากพบว่ากลุ่มที่ว่างงานก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
3. กลุ่มที่มีประกันสังคม
ซึ่งกลุ่มอาชีพที่มีการคุ้มครองหรือตอบแทนจากประกันสังคมอยู่แล้วตามมาตรา 33 ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบ
4.ข้าราชการ
ซึ่งข้าราชการและพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 นี้ เพราะรัฐยังจ่ายค่าจ้างและเงินเดือนให้เท่าเดิม
5.ผู้ได้รับเงินบำนาญ
เนื่องจากแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับเงินจากภาครัฐเต็มจำนวน
6.นักเรียน-นักศึกษา
เนื่องจากสถานการณ์เป็นนักศึกษาซึ่งยังไม่อยู่ในสถานะของคนทำงาน และมีการช่วยเหลือจากเงินช่วยเหลือการศึกษา เช่น กยศ.อยู่แล้ว ที่ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ให้ 2 ปี
7.เกษตรกร
เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ประกอบหลายอาชีพ คือใน 1 ปี มี 9 เดือนที่ทำเกษตร ส่วนที่เหลือก็อาจรับจ้างทั่วไป รัฐใช้เกณฑ์ประเมินว่าคนกลุ่มนี้มีอาชีพหลักคือเกษตรกร ไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และปกติแล้วก็จะได้รับสิทธิ์ในการเยียวยาเกษตรกรอยู่แล้วจากภาครัฐ
8.ผู้ค้าออนไลน์
กลุ่มอาชีพนี้ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ยังสามารถหารายได้ปกติ โดยไม่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจขายดีขึ้นอีกด้วย
9.แรงงานก่อสร้าง
เนื่องธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ และยังไม่มีประกาศให้หยุดชะงัก ดังนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบ แต่หากเลิกจ้างก็ต้องพิจารณาตามสมควร
10.โปรแกรมเมอร์
เนื่องจากกลุ่มอาชีพโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดสถานประกอบการ เพราะส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ที่บ้าน จึงไม่เข้าเกณฑ์ผู้ได้รับการเยียวยา